Search

นางเอกช่อง 4 "อารีย์ นักดนตรี" ศิลปินแห่งชาติ - ผู้จัดการออนไลน์




นางเอกช่อง 4 "อารีย์ นักดนตรี" ศิลปินแห่งชาติ

วัน "ศิลปินแห่งชาติ" 24 กุมภาพันธ์ ในปีนี้ ได้ประกาศเกียรติคุณประวัติศิลปินทั้ง12 ท่าน วันนี้... 15 กรกฎาคม 2562 จะรับรางวัลอย่างเป็นทางการ ซึ่ง "อารีย์ นักดนตรี" เป็น 1 ใน 12 ท่านที่เข้ารับรางวัลในครั้งนี้

อารีย์ นักดนตรี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์-ละคร) ประจำปีพุทธศักราช 2562 เป็นผู้ประกาศ/จัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ พิธีกร นักแสดง นักร้อง นักพากย์ ผู้จัดละครคณะ "อารีวัลย์" ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (ช่อง 4 บางขุนพรหม) และละครดังอีกจำนวนมากในนามทีวีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เป็นอดีตเจ้าของรางวัลผู้ประกาศหญิงยอดเยี่ยมคนเดียวของเอเซีย จากสถาบันระดับนานาชาติ ที่สเปน เมื่อ พ.ศ. 2504 และ รางวัลโทรทัศน์ทองคำ "เกียรติยศคนทีวี" ของเมืองไทย ประจำปี พ.ศ. 2547

"อารีย์ นักดนตรี" เป็นบุตรีของนายเทียบและนางพึ่งพา นักดนตรี ชาวสมุทรสงคราม นามสกุล "นักดนตรี" นี้ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงประทานให้กับนายเทียบ ผู้เป็นบิดา ... ครอบครัวประกอบการค้า ส่งพวกข้าว เส้นหมี่ เกลือ ไปขายที่ประเทศมาเลเซีย และพ่อมีความรู้เรื่องดนตรี มักจะยกตะเข้มาดีดเพลงไทยเดิมต่างๆ ในยามเย็น เสด็จในกรมฯ ทรงแวะมาร่วมวงดนตรีกับพ่อเทียบเป็นประจำ ทั้งบิดายังเคยเข้าถวายตัวและเรียนดนตรีอยู่ในวังบูรพาภิรมย์ ของสมเด็จพระปิตุลาบรมพงศาภิมุข

เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติของเธอ... "ละครออนไลน์" จึงหยิบเอาเรื่องราวที่เป็นภาพรวมของการทำงานมาบอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัยที่ผ่านมาถึง 88 ปีในวันนี้ ...

เศษเสี้ยวแห่งตำนาน
"วันนี้วันดีศรีสวัสดิ์ พิพัฒน์มงคล สุขาเทวามาดล ขอให้ทุกคนสมใจ..." (ชื่อเพลง "บรเทศ" คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน)
อารีย์ นักดนตรี ได้รำเพลง "ต้นบรเทศ" ประกอบเพลงนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของช่อง 4 บางขุนพรหม ในวันเปิดสถานีวันแรกอย่างเป็นทางการ เมื่อ 24 มิถุนายน 2498 ...

ก่อนหน้านั้น 1 ปี ... วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2497 บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุ ท.ท.ท. โดยห้องส่งตั้งอยู่ที่ชั้น 3 ตึก อ.จ.ส. (ปัจจุบันคือ ที่ตั้งอนุสาวรีย์ 14 ตุลา) บริเวณสี่แยกคอกวัว จากนั้นในปีถัดมา วันที่ 24 มิถุนายน 2498 เปิดสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บริเวณสี่แยกบางขุนพรหม (ที่ตั้งวังบางขุนพรหม -ธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน) ด้วยรัฐบาลกำหนดที่ตั้งของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ต้องห่างจากทำเนียบรัฐบาล ไม่เกิน 9 กิโลเมตร เพื่อความสะดวกในการประสานงานด้านข่าวสาร โดยมี “จำนง รังสิกุล” เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตรายการ

“เราอยู่ท้ายวัง ตอนนั้นมันเป็นที่ว่างๆ จอมพลป. พิบูลสงครามเป็นคนชี้ที่ตรงนี้ ตอนนั้นท่าน (ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ) นิราศไปอยู่ที่บันดุง ประเทศอินโดนีเซียแล้ว ลูกหลานท่านก็ไม่มีใครอยู่ที่วังนี้ ที่รกร้างด้านหลังมีแต่ต้นธูปฤษีขึ้นเต็มไปหมด สถานีวิทยุ ท.ท.ท. เป็นที่ฝึกหัดของเจ้าหน้าที่ด้านรายการและเทคนิคเพื่อให้เกิดความชำนาญก่อนที่จะไปปฏิบัติงานในโทรทัศน์ได้ทันที ท.ท.ท. เป็นสถานีเดียวที่รัฐบาลเปิดให้มีโฆษณาได้ในสมัยนั้น เพื่อเตรียมเงินจากรายได้ของการส่งวิทยุกระจายเสียงมารองรับกับค่าใช้จ่ายของสถานีโทรทัศน์ บริษัท ไทยโทรทัศน์มีกรมประชาสัมพันธ์ถือหุ้นอยู่ 51 % ” อารีย์ นักดนตรีเล่าย้อนความหลังให้ฟังเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2554 และปีนั้น เนื่องในวาระเทิดพระเกียรติ ครบ 130 ปี จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต “ตำนานเพลงรัก บางขุนพรหม” ที่จัดขึ้นในปีนี้ จึงมีความพิเศษกว่าทุกปี ด้วยการอัญเชิญเพลงพระนิพนธ์ มาร์ชบริพัตร, วอลซ์ปลื้มจิต และพรพรหม ขึ้นบรรเลง พร้อมย้อนรำลึกเพลงในฉากรักของละคร 5 เรื่อง โดยใช้วงดนตรีสากล กรมศิลปากรในการบรรเลง และจัดแสดงในวันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2554 ที่โรงละครแห่งชาติ .....

เรื่องราวเริ่มต้นที่ผู้ประกาศในยุคแรกประกอบด้วย เย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ (รพีพัฒน์ ณ อยุธยา) , อารีย์ นักดนตรี (จันทร์เกษม), ดาเรศร์ ศาตะจันทร์ และนวลละออ ทองเนื้อดี (เศวตโสภณ) เป็นต้น หลังเปิดสถานีได้เพียง 7 วัน นิตยสารฟรีเวิลด์ของสำนักข่าวสารอเมริกันได้แจ้งมาว่า จะขอถ่ายภาพดาราโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย “พิชัย วาศนาส่ง” เลือกอารีย์ นักดนตรีเป็นนางแบบปกในฐานะ “คนทำงานโทรทัศน์” ต่อมาเมื่อปี 2504 เธอเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล The Best Female Announcer จากประเทศสเปน ในฐานะผู้มีความสามารถดีเด่นในกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทย

ระยะแรก ทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ออกอากาศเพียง 4 วันคือ จันทร์, พุธ, ศุกร์, เสาร์ โดยรายการสดในแต่ละวันทำได้ไม่เกิน 3 รายการ ที่ต้องออกอากาศเพียง 4 วันเพราะรายการต่างๆยังไม่พร้อม ช่อง 4 ได้กำหนดเวลา 20.00 น. เป็นมาตรฐานในการเสนอข่าว สำหรับคนที่ไม่ได้อ่านข่าวสารประจำวันจากหนังสือพิมพ์ ต่อมาออกอากาศเพิ่มเป็น 5 วันคือ อังคาร, พุธ, พฤหัสบดี, เสาร์, และอาทิตย์ โดยเว้นวันจันทร์และวันศุกร์ไว้สำหรับรื้อและสร้างฉากสำหรับละครและรายการอื่น

“นายมีกฎที่เรารู้กันคือ หนึ่ง. ต้องไม่ไปเต้นรำกับผู้ชายตามไนต์คลับ สอง. ห้ามไปกินข้าว นั่งประดับโต๊ะให้สปอนเซอร์ ใครอยากดูงานให้ดูจากจอโทรทัศน์ สาม. ห้ามถ่ายชุดอาบน้ำ เพราะตอนนั้น ดาราหนังบางคนเริ่มถ่ายกันแล้ว เรียกว่า ทำสิ่งใดที่ยังความเสื่อมเสียแก่สถานีและตัวเอง ถือเป็นกฎข้อห้ามหมด”

นี่คือ ส่วนหนึ่งของชาวบางขุนพรหมในยุคนั้นที่ร่วมกันทำงาน เช่นสมจิตร สิทธิไชย, พิชัย วาศนาส่ง, รำยง สาครพันธุ์, บรรยง เสนาลักษณ์ (เทิ่ง สติเฟื่อง), ชนะ ศาสตราภัย, สมบัติ ภูอภิรมย์, สัมพันธ์ พันธุ์มณี, อาคม มกรานนท์, สมจินต์ ธรรมทัต, ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, รอง เค้ามูลคดี, วิเชียร พรหมจรรย์, ประกอบ ไชยพิพัฒน์, สุรินทร์ แสงขำ, ชูชีพ ช่ำชองยุทธ (ท้วม ทรนง), สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์, ศิริพร วงศ์สวัสดิ์, สุพรรณี ปิยะสิรานนท์, กนกวรรณ ด่านอุดม, นันทวัน เมฆใหญ่, นงลักษณ์ โรจนพรรณ, กำธร สุวรรณปิยะศิริ, ฉลอง สิมะเสถียร, กัณฑรีย์ นาคประภา, อาจินต์ ปัญจพรรค์, รัตนะ เยาวประภาษ, สุข หฤทัย, วิลาศ มณีวัต, อิงอร, รพีพร, รงค์ วงษ์สวรรค์, ครูเอื้อ สุนทรสนาน, ครู แก้ว อัจฉริยกุล, ครูพรานบูรณ์, ครูสง่า อารัมภีร ฯลฯ

ปีแรก รายการสุดท้ายภาคดึกจะเป็นละครรำ และละครพันทาง ละครชีวิตบ้างประปรายสลับกับวงดนตรีสากลเช่น สุนทราภรณ์, คีตะวัฒน์ , ประสานมิตร และศาลาไทยไนท์คลับ ซึ่งวงนี้นักร้องนักดนตรีเป็นชาวฟิลิปปินส์ล้วนๆ และยังมีวงสตริงที่คนไทยเล่นประจำอยู่คือ วงชื่นชุมนุมศิลปิน เจ้าของคือ สวลี ผกาพันธุ์ และอดิศักดิ์ เศวตนันท์ ผู้เป็นสามี รายการต่างๆสถานีฯเป็นผู้จัดและใช้เจ้าหน้าที่สถานีฯ แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะ “อารีย์ นักดนตรี” ถือเป็นตัวยืน เหตุเพราะเธอมีพื้นฐานด้านการรำมาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ ดังนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่า อารีย์ นักดนตรีเป็นสัญลักษณ์ที่แนบแน่นและชัดเจนที่สุดของคนทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม เพราะนอกเหนือจากการเป็นผู้ประกาศ, นักแสดงละครทั้ง ละครพันทาง , งิ้วไทย และละครสมัยใหม่ แล้ว ยังมีส่วนร่วมในการร้องเพลงกับทางสถานีมาโดยตลอด

วันนี้ … เธอบอกว่า รายการ “เพลงแห่งความหลัง” เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดการจัดคอนเสิร์ตเพลงช่อง 4 บางขุนพรหมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
“ ปกติจัดเพียงปีละครั้ง ครั้งที่ 10 แล้วในปีนี้ จำได้ว่า เราเริ่มจัดมาก่อนที่เทิ่ง สติเฟื่อง (บรรยง เสนาลักษณ์) จะเสียชีวิต2 ปี เพราะใน 2 ปีแรกเทิ่งยังมาเป็นพิธีกรให้อยู่เลย การแสดงคอนเสิร์ตเริ่มจากแฟนทีวีช่อง 4 กลุ่มหนึ่งเจอเราที่ไหนก็จะบอกว่า อยากฟังเพลงทีวีช่อง 4 เราก็บอกว่า คอนเสิร์ตที่คนอื่นจัดกันก็มีเพลงพวกนี้อยู่ พวกแฟนๆก็บอกว่า มีแซมมาแค่เพลง สองเพลงเท่านั้น เขาอยากจะฟังเพลงรุ่นนั้นทั้งหมด เรื่องมันเป็นอย่างนี้” อารีย์ นักดนตรีกล่าว

ก่อนจะมาเป็นรายการเพลงแห่งความหลังเมื่อต้นปี พ.ศ. 2507 นั้น คนโทรทัศน์ช่อง 4 จะเลือกเพลงมาขับร้องในวาระพิเศษ อันได้แก่วันครบรอบวันเกิดของสถานีฯ เป็นประจำอยู่ทุกปี ต่อมาเมื่อ จำนง รังสิกุล ริเริ่มให้มีการจัดรายการนี้ ในช่วงวันเสาร์ (หรืออาทิตย์) ระหว่างเวลา 18.00 – 18.30 น. ได้รับความนิยมจากผู้ชมที่ชอบฟังเพลงมาก
รายการเพลงแห่งความหลัง มี ฉลอง สิมะเสถียร เป็นผู้รับนโยบาย ทำหน้าที่ในการจัดหาเพลงเก่าของพรานบูรณ์, ขุนวิจิตรมาตรา, นารถ ถาวรบุตร และล้วน ควันธรรม ซึ่งแผ่นเสียงส่วนใหญ่เสียหายไปกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เหลืออยู่ก็มีสภาพไม่สมบูรณ์ ดังนั้น รายการนี้จึงเป็นการอนุรักษ์เพลงเก่าที่เกือบจะสูญหายให้คงอยู่ นอกจากนักร้องของสถานีฯแล้ว ยังมีนักร้องรับเชิญ เช่น ชาญ เย็นแข,สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, สถาพร มุกดาประกร, เฉลา ประสพศาสตร์ , ชรินทร์ นันทนาคร, จินตนา สุขสถิตย์ เป็นต้น

เพลงเด่นๆในยุคช่อง 4 บางขุนพรหม เช่น ค่ำแล้วในฤดูหนาว, กุหลาบร่วง, ดอกนกยูง, นัดพบ, ปิ่นทอง, ขึ้นพลับพลา (กุหลาบหอม), กล้วยไม้, ขวัญของเรียม, เคียงเรียม, เกวียนหัก ( ทั้ง 12 เพลงนี้ โครงการ “รักษ์เพลงไทย” ของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้นำกลับมาทำในชุด “เพลงหวานบางขุนพรหม” ขับร้องโดยนักร้องบางคนของช่อง 4 บางขุนพรหมที่ยังมีชีวิตอยู่ อาทิ อารีย์ นักดนตรี, นฤพนธ์ ดุริยพันธ์, นันทวัน เมฆใหญ่, กำธร สุวรรณปิยะศิริ, ชรินทร์ นันทนาคร ร่วมกับนักร้องในยุคปัจจุบันเพียงคนเดียวคือ อรวี สัจจานนท์
เพลงอื่นๆของละครช่อง 4 ที่รู้จักกันดีในหมู่นักฟังเพลงเก่า เช่น กุหลาบในมือเธอ, ใจสนองใจ, แหวนประดับก้อย, บ้านทรายทอง , หากรู้สักนิด, น้ำตาแสงไต้, แว่วเสียงจำปูน, จันทร์แจ่มฟ้า, พรานเบ็ด, สั่งเรียม, ฝนสั่งฟ้า, หนาวอารมณ์, กระแจะจันทร์ ฯลฯ และเพลงจากละครโทรทัศน์ ช่อง 4 ทางบริษัท ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด ได้นำเพลงกลุ่มนี้ ทั้งสิ้น 4 แผ่น มาบรรจุกล่อง จำหน่ายตามราคากล่องคือ 840 บาท

ทูลกระหม่อมบริพัตรและวอลซ์ปลื้มจิต
วันหนึ่ง กัณฑรีย์ นาคประภา (ภรรยา ฉลอง สิมะเสถียร) เอาเพลงหนึ่งมาต่อให้ !! เป็นเพลงที่เธอไม่เคยได้ยินมาก่อน เพลงนั้นคือ “วอลซ์ปลื้มจิต” ซึ่งนิพนธ์ทำนองโดยสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อปี 2446 (แต่เป็นโน้ตทำนองสำหรับแตรวงบรรเลง) กัณฑรีย์ได้เล่าให้เธอฟังว่า ทูลกระหม่อมบริพัตร เป็นเจ้าของวังและเจ้าของสถานที่ของช่อง 4 บางขุนพรหม ทรงนำทำนองเพลงฝรั่งมาดัดแปลงเป็นเพลงแรกและคนแรกในประเทศไทย เพลงนี้กัณฑรีย์เป็นคนต่อให้กับเธอ ภายหลัง อารีย์ นักดนตรีต่อให้กับ “โฉมฉาย อรุณฉาน” อีกทอดหนึ่ง

มีหลักฐานบันทึกว่า ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ทรงโปรดใช้เวลาว่างส่วนพระองค์ในการศึกษาวิชาดนตรี ทั้งด้านประสานเสียง และการประพันธ์เพลง จนทรงสามารถประพันธ์เพลง และทำหน้าที่เป็นวาทยกรได้อย่างคล่องแคล่ว เคยทรงเล่าประทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระธิดา ฟังว่า “…ถ้าพ่อเลือกได้ พ่อจะเรียนดนตรีและภาษา และจะทำงานด้านดนตรีอย่างเดียว แต่พ่อเลือกไม่ได้ เพราะพ่อบังเกิดมามียศตำแหน่ง ต้องทำงานให้ประเทศชาติ ทูลหม่อม (รัชกาลที่ 5) สั่งให้พ่อไปเรียนวิชาทหารเพื่อกลับมาปรับปรุงกองทัพไทย พ่อก็ไปเรียนวิชาทหาร บางครั้งพ่อเบื่อบางวิชาที่ต้องเรียนจนทนไม่ไหว ต้องเก็บพ็อกเกตมันนี่เอาแอบไปเรียนดนตรี แอบไปเรียนเพราะพวกผู้ใหญ่สมัยนั้นเห็นว่าวิชาดนตรีไม่เหมาะกับชายชาติทหาร เมื่อได้เรียนดนตรีที่พ่อรักก็สบายใจ เกิดความอดทนที่จะเรียนและทำงานที่พ่อเบื่อ…”

ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงนิพนธ์ทั้งเพลงฝรั่ง, เพลงไทยแท้, เพลงไทยเดิมซึ่งเป็นทางและทำนองสำหรับบรรเลงพิณพาทย์โดยตรง และเพลงไทยเดิมอีกส่วนหนึ่งได้นิพนธ์ขึ้นภายหลังเมื่อประทับอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล สืบค้นเพลงซึ่งนิพนธ์โดยทูลกระหม่อมบริพัตรฯได้ถึง 99 เพลง คุณูปการด้านดนตรีอีกประการหนึ่งของพระองค์ท่านคือ ขณะที่ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ (11 ธันวาคม 2453 – 18 มิถุนายน 2463) ทรงปรับปรุงวงดนตรีสากลของกองดุริยางค์ทหารเรือ จนสามารถบรรเลงเพลงประเภทซิมโฟนีได้ดีเป็นที่ยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน

คอนเสิร์ต “ตำนานเพลงรัก วังบางขุนพรหม” ในครั้งนั้น นอกเหนือจากเพลง “วอลซ์ปลื้มจิต” ยังมีเพลงในนิพนธ์ของพระองค์ท่านอีก 2 เพลงคือ “มาร์ชบริพัตร และ พรพรหม ”
“อย่างเพลงไทยเดิม แขกมอญบางขุนพรหม ทีแรกท่านได้ฟังมาเพียงชั้นเดียว ท่านก็เพิ่มเป็น 2 ชั้น 3 ชั้น พอมาชั้นที่ 2 มันต้องมีลูกล้อ ลูกขัดกัน ครูเอื้อ สุนทรสนานก็เอาชั้นที่ 2 มาแต่งเป็นเพลง “พรพรหม” เพลงของท่าน นักแต่งเพลงไทยเอาของท่านมาใช้เยอะ แต่คนไม่ค่อยรู้ คนฟังเพลงชั้นหางๆ ถ้าไม่ศึกษาไม่มีทางรู้หรอก ครูสมาน กาญจนผลินก็เอาเพลงพวกนี้มาทำเหมือนกัน”

“ศรอนงค์” และ “นันทาเทวี”
นอกจาก 3 บทเพลงดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังจะระลึกความหลังด้วยเพลงในฉากรักของละครถึง 5 เรื่อง คือ นันทาเทวี, ขุนศึก, ลูกทาส, เพียงแค่ขอบฟ้าและศรอนงค์

“ศรอนงค์” เป็นละครของคณะปรีดาลัยของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก แสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2486 ที่ศาลาเฉลิมกรุง เพลงเอกของละครเรื่องนี้ ประกอบด้วยเพลง “ศรอนงค์” (คำร้อง ขุนวิจิตรมาตรา ทำนอง น.ต.โพธิ์ ชูประดิษฐ์ ) และเพลงประกอบอีก 3 เพลงคือ “มโนมัย(ม้าแก้ว)”, ปทุมทอง(นางแก้ว) และเพลงขุนพลแก้ว เพลงในชุดนี้ขุนวิจิตรมาตราแต่งเนื้อขึ้นมาก่อน แล้วจึงใส่ทำนองในภายหลังให้กลมกลืนผิดกับเพลงอื่นๆ ที่เคยแต่งมา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2502 บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด พระ – นางคือ ฉลอง สิมะเสถียร และอารีย์ นักดนตรี ถือเป็น “ละครเพลงเรื่องแรก” ของทีวีช่อง 4 และวันที่ 24 มิถุนายน 2507 ละครเพลงเรื่องนี้กลับมาอีกครั้ง พระเอกเปลี่ยนจาก “ฉลอง” เป็น “กำธร สุวรรณปิยะศิริ” การกลับมาในครั้งนี้ ขุนวิจิตรมาตราเขียนเพลงเพิ่มให้พระเอกร้อง “รำพึงรัก” นางเอกร้อง “รักแน่หรือ” และยังมีเพลงระบำอีก 1 เพลง

“นันทาเทวี” ละครเวทีซึ่งนิพนธ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งเป็นละครที่มีความกินใจ ครบรส ทั้งรัก แค้น โศก อาฆาต แต่เดิมละครเวทีเรื่องนี้มีเพลงทั้งสิ้น 3 เพลงคือ นันทาเทวี (คำร้อง – ทำนอง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์) , ใต้เงาไม้ (คำร้อง เนรมิตร ทำนอง โพธิ์ ชูประดิษฐ์), ศรรัก (คำร้อง ขุนสวัสดิ์ทิฆัมพร ทำนอง สง่า อารัมภีร) เมื่อช่อง 4 บางขุนพรหมนำละครเรื่องนี้กลับมาเล่น และแสดงโดย ฉลอง สิมะเสถียรและอารีย์ นักดนตรี เสด็จพระองค์ชายใหญ่ได้ประทานเพลง “ปิ่นทอง” มาให้แทน “ศรรัก” เนื่องจากมีความกลมกลืนมากกว่า
“เพลงนี้เป็นเพลงที่แต่งขึ้นตามระดับเสียงและลีลาการร้องของเราโดยตรง จึงเป็นเพลงที่ร้องได้ดีกว่า “ศรรัก” ความหมายก็ดี ตรงกับเนื้อเรื่องละครพอดี เพราะว่าเจ้าหญิงนันทาเทวีปลดปิ่นจากเกศาประทานให้พระเอกก่อนจำใจจากลาไปเป็นมเหสีของกษัตริย์ต่างเมือง ไปงานไหน ก็มักจะมีคนมาขอให้ร้องเพลงนี้”

อารีย์ นักดนตรี บอกเล่าถึงฉากและบท ตลอดจนโฆษณาในสมัยละครช่อง 4 บางขุนพรหมให้ฟังว่า
“ สมัยก่อนการเขียนบทละครต้องเขียนบทให้ต้องประหยัดพื้นที่ฉากด้วย โดยกำหนดไว้ว่า ฉากใหญ่มีเพียงฉากเดียว และจะต้องดึงเหตุการณ์สำคัญๆ มารวมอยู่ในฉากนี้ให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้พื้นที่ทำฉากย่อยๆได้อีก 2 หรือ 3 ฉาก ผู้เขียนบทโทรทัศน์จะต้องตัดฉากและเหตุการณ์สำคัญในเนื้อเรื่องให้ดี เช่น เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไปเป็นอีกหนึ่งวัน หรือเวลาผ่านไป 3-4 เดือน หรือเป็นฉากแต่งงาน คนเขียนต้องฉลาดพอที่จะเขียนให้ลงล็อก โดยการตัดฉากให้เข้ากับเบรกโฆษณาให้ได้ โฆษณา 1 ช่วงมีผู้อุปถัมภ์รายการ 3 ราย รายละ 1 นาทีครึ่ง รวมแล้วเวลาโฆษณาไม่เกิน 5 นาที ได้ค่าอุปถัมภ์รายละ 3,500 บาท 3 รายได้ 10,500 บาท ตอนหลังต้องกระจายโฆษณาเป็น 5-10 ราย ก็เฉลี่ยเวลากันไป ทั้งนี้เพื่อเตะถ่วงเวลาให้นักแสดงไปเปลี่ยนเสื้อและเครื่องประดับให้ทัน แต่ถ้าตัวแสดงเปลี่ยนเสื้อไม่ทันจริงๆ ผู้กำกับเวทีก็ต้องส่งสัญญาณให้ผู้โฆษณาโดยใช้มือสองข้างจดกันแล้วแยกออก ซึ่งมีความหมายว่า ให้ยืดเวลา เมื่อตัวแสดงพร้อมแล้วก็จะใช้นิ้วหมุนเร็วๆ แปลว่าให้รีบๆจบโฆษณาโดยเร็ว”

ขุนศึก กับ 4 หน่วยกล้าตาย
ตัวละครที่เคยเล่น “บท” ที่สุวัฒน์ วรดิลกเขียนให้ และมีโอกาสได้เล่นละครเรื่อง “ขุนศึก” ของช่อง 4 บางขุนพรหม ต่างพูดว่า บทพูดคล้ายกับสำนวนฝีปากของสุวัฒน์เลย !!
“จะเหมือนกันได้ยังไงคะ ถ้าเราได้คุณสุวัฒน์เขียนบทละก็ ไม่รู้จะสนุกกว่านี้อีกกี่เท่า เสียดายที่พวกเราไม่เคยมีโอกาสร่วมงานกันเหมือนพี่สวลีและคุณอดิศักดิ์” อารีย์ นักดนตรี พูดประมาณนี้เมื่อปี 2502 พลางปาดเหงื่อด้วยความกลัวว่าใครจะทราบ “ความลับ” ที่รู้กันเพียง 4 คน อันได้แก่ ครูสัมพันธ์ และสกล พันธุ์มณี, อารีย์ นักดนตรี, กำธร สุวรรณปิยะศิริ เท่านั้น

เมื่อปี พ.ศ. 2500 สุวัฒน์ วรดิลกได้นำคณะศิลปินไทย เดินทางไปแสดงที่ประเทศจีน รัฐบาลไทยขณะนั้นมีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ประจวบกับเดินทางกลับมาในช่วงที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติล้มอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งผลให้นักเขียนอย่างสุวัฒน์ถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลา 4 ปี ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำได้เขียนนิยาย บทละครโทรทัศน์ บทละครวิทยุ อย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในนั้นคือ “ขุนศึก” เรื่องนี้แหละ !!

“ตอนนั้น คุณสุวัฒน์ต้องลหุโทษอยู่ในคุก เรื่องนี้แม้แต่นายก็ไม่ทราบเรื่อง อย่าลืมว่า ช่อง 4 เป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล ถ้าความลับนี้หลุดออกไปจะเป็นอย่างไร สำหรับนาย เราคิดว่า ถ้านายรู้ อาจจะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ท่านอาจจะตำหนิว่า ทำงานล่อแหลมและเสี่ยงเกินไปเท่านั้นเอง แต่ถ้ารัฐบาลรู้จะเดือดร้อนกันใหญ่”

ละครขุนศึก เรื่องนี้ สุวัฒน์ วรดิลก ใช้นามแฝง “สุมทุม บุญเกื้อ” ในการเขียนบทโทรทัศน์ ชื่อ “สุมทุม” นี้คือ น้องชายของไม้เมืองเดิม กำกับการแสดงโดย ครูทัต เอกทัต , พิชัย วาศนาส่ง ผู้กำกับภาพ
ในคืนหนึ่ง ทั้ง 4 หน่วยกล้าตายนัดแนะกันไปหาสุมทุม บุญเกื้อ เพื่อให้สมอ้างว่า เป็นคนเขียนบท เจ้าตัวอนุญาตให้ใช้ชื่อได้ แต่มีข้อแม้ว่า ขอตรวจบทละครโทรทัศน์ก่อนทุกครั้ง ขณะเดียวกันก็ติดต่อกับสุวัฒน์ผ่านทางน้องสาวที่ชื่อ “น้อย” ซึ่งเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนดรุโณทยาน ครูน้อยได้นำเอาจดหมายของครูสัมพันธ์ซ่อนไว้ใส่ก้นปิ่นโตเข้าไปให้ ในจดหมายฉบับนั้นแจ้งความประสงค์ และแจ้งตัวนักแสดงและทีมงานทั้งหมด บทที่ทำออกมาจากลหุโทษนั้นมาเดือนต่อเดือนและก่อนล่วงหน้า 2 อาทิตย์

สุวัฒน์ วรดิลก เคยเล่าให้เธอฟังว่า “พี่เขียนบทออกจากลหุก็ถูกผู้คุมแกล้ง ขอยืมหนังสือไปอ่านแล้วไม่คืน พี่ก็เลยต้องดำน้ำเอา แล้วมันก็ไม่ตรงตามบท คุณทัตก็เลยต้องแก้ไขให้ แต่ก็ไม่มาก”

ขุนศึก ถือเป็นละครใหญ่ ที่มีความสมบูรณ์พร้อมมากที่สุด ซึ่งใช้เวลาในการแสดงยาวนานถึง 2 ปี (ปี 2502 – 2504) โฆษณาต่อรายในช่วง5 เดือนแรกอยู่ที่ 3,500 บาท จากนั้นค่าโฆษณาขยับเป็นเจ้าละ 6,500 บาทต่อราย ไม่ต้องวิ่งหาโฆษณาอย่างละครเรื่องอื่นๆ เพราะโฆษณาทั้งหมดขอผูกขาดจนจบเรื่อง ถือเป็นละครเรื่องเดียวที่ทำลายสถิติละครของช่อง 4 บางขุนพรหมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพลงประกอบละครเรื่องนี้คือ ฟ้ารักดิน (กำธร – อารีย์) และ พี่รักเจ้าสาว (ทนงศักดิ์ - ดวงดาว อาษากิจ)

โปรดติดตาม ละครช่อง 4 บางขุนพรหมเรื่องอื่นๆ ที่ "อารีย์ นักดนตรี" แสดงในภาค 2 เร็วๆนี้ !

โลกมายาของอารีย์ หนังสือชีวประวัติของอารีย์ นักดนตรี

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงประทาน “นามสกุล” ให้กับนายเทียบ บิดาของอารีย์ นักดนตรี

อารีย์ นักดนตรี เมื่อปี 2552 อายุ 77 ปี

อารีย์ นักดนตรี เมื่อปี 2552 อายุ 77 ปี

รับบท “นางเอก” สมัยช่อง 4 บางขุนพรหม

กับสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ (ผู้ล่วงลับ)

กับกำธร สุวรรณปิยะศิริ (ผู้ล่วงลับ)

กับเพื่อนๆสมัยช่อง 4 บางขุนพรหม

ออกรายการเพลงร่วมกับกับนักร้องในวงสุนทราภรณ์ สมัยช่อง 4

โปสเตอร์ คอนเสิร์ต “เพลงหวาน บางขุนพรหม” เมื่อปี 2552

สูจิบัตร “เพลงหวาน บางขุนพรหม”

เพลงละครช่อง 4 โดยห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ (1968) จำกัด

Let's block ads! (Why?)




July 15, 2020 at 02:05PM
https://ift.tt/2ZtRhvR

นางเอกช่อง 4 "อารีย์ นักดนตรี" ศิลปินแห่งชาติ - ผู้จัดการออนไลน์

https://ift.tt/2Y7JTEM


Bagikan Berita Ini

0 Response to "นางเอกช่อง 4 "อารีย์ นักดนตรี" ศิลปินแห่งชาติ - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.