Search

“HOCKHACKER” เสรีภาพของศิลปินเท่ากับเสรีภาพของทุกคน - Sanook


ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงประเทศกูมีเพลงแร็ปวิพากษ์การเมืองไทย ผลงานของแร็ปเปอร์กลุ่ม Rap Against Dictatorship (RAD) ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมไทยเป็นวงกว้าง และเป็น “ตัวปลดล็อก” เพดานการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้เกิดคลื่นพลังใหม่ ๆ ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การท้าชนอำนาจรัฐผ่านบทเพลง ก็มีราคาที่ต้องจ่าย และในบางครั้งก็ต้องจ่ายด้วย “เสรีภาพ” ของศิลปินเอง

Sanook คุยกับ Hockhacker หนึ่งในแร็ปเปอร์จากกลุ่ม RAD เรื่องเพลงแร็ปกับการเมือง ไปจนถึง “เสรีภาพ” ของศิลปินในสังคมไทย และศิลปินควรแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ในสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล 

เพลงแร็ปกับการเมือง 

“การเมืองคืออะไร” 

เชื่อว่าคำตอบของคำถามนี้ คงมีมากมายและแตกต่างกันไปตามการมองเห็น ความเข้าใจ ทัศนคติ และบริบททางสังคมของปัจเจกชนนั้น ๆ แต่สำหรับ Hockhacker หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม RAD แล้ว เขามองว่า “การเมืองคือทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคน การบริหารจัดการ การปกครอง ความเท่าเทียม การศึกษา และทรัพยากร” เมื่อการเมืองกดทับและเบียดบังเสรีภาพของประชาชน คนรุ่นใหม่บางส่วนที่รู้สึกอัดอั้นกับความอยุติธรรม จึงใช้ “เพลงแร็ป” ระบายความไม่พอใจของตัวเอง เช่นเดียวกับ Hockhacker ที่เล่าว่า เขาทำเพลงด้วยความโกรธ แต่ขณะเดียวกันก็ต้อง “มีสติและองค์ความรู้” จึงจะทำให้เพลงครบถ้วน 

หากมองย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “เพลงแร็ป” กลายเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองของศิลปินในหลายประเทศทั่วโลก โดยทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี ตีแผ่ และสะท้อนปัญหาของรัฐบาล หรือสังคมผ่านเนื้อเพลงที่มีเนื้อหาดุดันและคำหยาบคายที่แสดงออกถึงความโกรธเกรี้ยวต่อสังคม เช่น เพลง “This is America” ของ Childish Gambino ดาราและศิลปินชาวอเมริกัน ที่นำเสนอปัญหาการเหยียดสีผิวในสหรัฐฯ หรือเพลง “ประเทศกูมี” ที่ตีแผ่ “ความจริง” ของสังคมไทยและปลุกพลังเงียบของคนรุ่นใหม่ให้ตื่นขึ้น รวมถึงเพลง “เสียงนี้ส่งถึง...” ของ Hockhacker ที่สะท้อนปัญหาของประชาชนในประเทศ และหวังว่าผู้นำประเทศจะได้ยินเสียง หรือมองเห็นปัญหาเหล่านี้ เช่นเดียวกับ เพลง “ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” และ “250 สอพลอ” ผลงานจาก RAD ที่ว่าด้วยปัญหาการเมืองและสังคมแทบทั้งสิ้น 

“ผมไม่ปฏิเสธเลยว่าเพลงแร็ป คือเครื่องมือทางการเมืองในการแสดงออกของพวกเรา แต่หลังจากที่มันไปสู่หูคนฟัง แล้วเขาแชร์ออกไป มันจะเปลี่ยนไปเป็นเครื่องมือสนับสนุนความคิดของคนฟังเช่นกัน มันคือเครื่องมือที่จะโน้มน้าว หรือโยนให้คนในสังคมเกิดการถกเถียงนั่นแหละ”  

ปรากฏการณ์ “ประเทศกูมี”

แม้เพลง “ประเทศกูมี” จะประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้คนไทยกล้าตั้งคำถามกับการบริหารและการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น ทว่า ความโด่งดังที่ได้มาก็มีราคาที่ต้องจ่าย เมื่อ RAD ต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามของฝั่งผู้สนับสนุนรัฐบาลอย่างหนัก 

“พอทำแล้ว เราถูกคุกคามหรือมีคนที่เห็นต่างในประมาณที่ใกล้เคียงกับคนที่เห็นด้วย แสดงว่าเราทำถูกทางแล้ว เรากำลังทำให้สังคมถกเถียง ผมว่ามันคือหน้าที่ของเพลง หลังจากนั้น สังคมจะไปทำหน้าที่ของเขาต่อเอง ว่าคนรุ่นใหม่มีสิทธิ์ในการแสดงออกมากแค่ไหน และคนรุ่นเก่าพร้อมจะรับฟังคนรุ่นใหม่มากแค่ไหน” Hockhacker กล่าว 

ไม่เพียงแต่การคุกคามของกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล แต่พวกเขายังต้องเผชิญหน้ากับ “การคุกคามจากรัฐ” เพราะเคยถูกขู่จะใช้กฎหมายใน “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” ดำเนินคดีฐานเผยแพร่ “ข้อมูลเท็จ” เมื่อย้อนถามถึงความรู้สึกในวินาทีที่ตำรวจระบุว่าเพลง “ประเทศกูมี” อาจมีความผิดทางกฎหมาย Hockhacker ก็เผยว่า “ตอนนั้นในทีมก็กลัว กลัวว่าทำไมมันจะต้องผิดกฎหมายขนาดนั้นเลยหรือ เรากลัวเพราะเขาหยิบข้อกฎหมายมาพูด หรือเอาข้อกฎหมายมาขู่ต่างหาก” แต่นอกเหนือจากเรื่องข้อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการถกเถียง หรือการไล่ไปต่างประเทศ พวกเขาไม่เคยกลัว รวมไปถึงการตีตราพวกเขาว่าเป็น “พวกชังชาติ” อีกด้วย 

เราไม่ได้ชังชาติแน่นอน เราชังคนที่หาแดกกับชาติ หาแดกกับภาษี แล้วได้เงินเดือนเยอะ ได้เงินจากการฮั้วกัน ได้เงินจากการเข้ามามีอำนาจในระบบ ได้เงินจากการนั่งตำแหน่งหลาย ๆ ตำแหน่งในหน่วยราชการ เราชังคนแบบนั้นมากกว่า มันไม่แฟร์กับประชาชน” Hockhacker ชี้ 

เสรีภาพของศิลปิน

ศิลปินหลายคนที่ออกมาพูดเรื่องการเมือง ต้องเผชิญกับ “โทษทางกฎหมาย” ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ จนเหมือนกับว่า รัฐบาลพยายามปิดปากคนเห็นต่างด้วยข้อกฎหมาย นำไปสู่การตั้งคำถามถึง “เสรีภาพ” ในการแสดงออกทางการเมืองของศิลปินไทยว่ามีอยู่จริงหรือไม่

“ก่อนหน้านี้มันมีข่าวว่ามี 12 กลุ่มที่ถูกจับตาว่าอยู่เบื้องหลังการชุมนุม ซึ่งมีพวกผมไปอยู่ด้วย มันตลกมาก เพราะเขาบอกว่า ในการจัดการชุมนุมแต่ละครั้ง จะมีกลุ่มเหล่านี้ไปเกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลังเสมอ มันเหมือนเป็น “วิธีการแจ้งจับล่วงหน้า” ถามว่ากลัวไหม ไม่กลัวนะ แต่พอเรามีงานอื่นที่เราทำอยู่ เราก็กลัวกระทบงาน ทำให้เราต้องหยุดความเคลื่อนไหวเหมือนกัน” Hockhacker เล่าถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับตัวเอง 

จริง ๆ เสรีภาพของศิลปินก็เท่ากับเสรีภาพของทุกคนนั้นแหละ แต่พอคุณเริ่มมีคนรู้จัก เริ่มมีคนติดตาม ความรับผิดชอบในการเป็นศิลปินก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คุณเป็นดารา เป็นคนที่มีอำนาจ มีบทบาท มีผู้ติดตาม คุณมีอิทธิพลกับคนที่กำลังตามคุณอยู่ ดังนั้นการทำอะไรมันต้องคิดมากขึ้น” Hockhacker ชี้ สอดคล้องกับเรื่อง “การแสดงจุดยืนทางการเมือง” ที่เขามองว่า ศิลปินควรพูดเรื่องการเมือง “สำหรับผม สิ่งที่คุณคิด มันคือชีวิตของคุณ ชีวิตผมเจออะไรในประเทศไทยตอนนี้ก็หยิบมาพูด ผมคิดว่าศิลปินแต่ละคนก็คงเจออะไรที่มีประเด็นให้พูดต่างกัน” 

“แต่บางทีศิลปินก็ปิดปากตัวเอง แล้วไม่ยอมก้าวออกมาเสียที ซึ่งมันยากมาก คือมันอยู่ยาก เขาจะเสนอแนวคิดอะไรออกไป แต่มันไม่มีรายรับกลับเข้ามา เขาก็เลิกทำ ดังนั้น ถ้าจะขยับเรื่องการเมือง ต้องเข้าใจเรื่องทุนนิยมและต้องอยู่กับทุนนิยมให้ได้ ไม่งั้นก็จะอยู่ยาก แต่ผมยังคิดว่าคนที่อยู่ในสปอตไลต์คงไม่เป็นไร แต่ศิลปินตัวเล็กตัวน้อยเสี่ยงกว่าเราอีก แร็ปเปอร์ก็มีเยอะ ถ้าเขาไปจับคนใดคนหนึ่งโดยที่เราไม่รู้ แล้วคน ๆ นั้นหายไป เราก็คงรู้สึกไม่ดีเหมือนกัน” 

แม้การวิพากษ์วิจารณ์รัฐจะมีราคาที่ต้องจ่ายสูงลิ่ว ส่งผลให้ศิลปินหลายคนเลือกที่จะปิดปากตัวเองเพื่อความปลอดภัย แต่สำหรับ Hockhacker แล้ว เขาย้ำชัดเจนว่าจะยังคงทำเพลงแร็ปที่ว่าด้วยการเมืองต่อไป พร้อมกับขยับไปพูดถึงประเด็นอื่น ๆ อีกด้วย 

“เราทำต่ออยู่แล้ว แต่เราคงไปพูดประเด็นอื่น ซึ่งเพลงของ RAD ก็พูดไปบ้างแล้วเหมือนกัน แต่เรื่องการเมืองคือทุกอย่าง ทั้งการจัดการ การบริหาร หรือการเข้าถึงทรัพยากรของชนชั้นที่เป็นประชาชนธรรมดา และไม่มีอำนาจใด ๆ ในรัฐเลย เราจึงอยากทำในหลายประเด็นที่จะขับเคลื่อนสังคม เช่น รัฐสวัสดิการ สิทธิคนพิการ สิทธิผู้สูงอายุ แต่มันก็เป็นประเด็นที่ยังเล็กมาก และเราก็ยังมีข้อมูลไม่มากพอ”

ถึงแม้การแสดงออกทางความคิดผ่านบทเพลงวิพากษ์การเมือง จะส่งผลให้แร็ปเปอร์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะโดนคุกคาม แต่ถ้าหากเสรีภาพการแสดงออกของศิลปินเท่ากับเสรีภาพของประชาชนทุกคนแล้ว เมื่อศิลปินถูกรัฐปิดปาก ก็คงไม่ต่างจากการที่รัฐกำลังปิดปากประชาชนอยู่ แต่มือที่ไร้อาวุธและร่างกายที่ไร้อำนาจของประชาชนตัวเล็ก ๆ คงไม่สามารถต่อกรกับรัฐได้ สิ่งที่ประชาชนพอจะทำได้ คงเป็นการรวมพลังเพื่อส่งเสียงขึ้นไปให้ถึงผู้มีอำนาจได้ยิน ว่าพวกเราขอ “เสรีภาพ” กลับคืนมา

“ผมว่ามันจะเป็นคลื่น มันกำลังมาและกำลังแรงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเขากดเรามากเท่าไร คลื่นที่มาก็จะแรงขึ้นไปเท่านั้น” Hockhacker ทิ้งท้าย

ขอบคุณสถานที่: ร้าน Letana cafe & play

Let's block ads! (Why?)




August 13, 2020 at 04:34PM
https://ift.tt/3iGzicB

“HOCKHACKER” เสรีภาพของศิลปินเท่ากับเสรีภาพของทุกคน - Sanook

https://ift.tt/2Y7JTEM


Bagikan Berita Ini

0 Response to "“HOCKHACKER” เสรีภาพของศิลปินเท่ากับเสรีภาพของทุกคน - Sanook"

Post a Comment

Powered by Blogger.