Search

"อัด อวัช" นักแสดงกับการแสดงความเห็นทางการเมือง "มันควรเป็นเรื่องปกติ" - บีบีซีไทย

https://ift.tt/2Yb45FH
  • สมิตานัน หยงสตาร์
  • ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย

เลือกตั้งครีั้งแรกของ อัด อวัช

"การเมืองกับคนไทยมันถูกแบ่งแยกกันมาตลอดว่าอย่าไปแตะ ยิ่งเราเป็นคนในวงการบันเทิงเรายิ่งต้องทำตัวเป็นกลางที่สุด มันก็เลยเป็นอย่างนี้มาตลอด แล้ววันนี้การที่มีคนออกมาพูดมันเลยดูเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันควรเป็นเรื่องปกติ" --อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงวัย 24 ปี

ความปรารถนาที่จะให้การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็น "เรื่องปกติ" สำหรับทุกคนรวมทั้งดารานักแสดงผู้มีชื่อเสียง ทำให้อวัช หรือ "อัด" นักแสดงรุ่นใหม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ทางโซเชียลมีเดีย ทั้งที่รู้ว่ามี "ราคาที่ต้องจ่าย"

ในช่วงที่ประเด็นการอุ้มหาย การคุกคามผู้เห็นต่าง สิทธิมนุษยชนและการเมืองกำลังร้อนระอุในสังคมไทย คนจำนวนหนึ่งได้คาดหวังและเรียกร้องให้ผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงแสดงจุดยืนต่อประเด็นเหล่านี้ จนนำมาซึ่งกระแสเรียกร้องผ่านแฮชแท็ก #วันนี้ดาราCallOutหรือยัง

แม้คนในวงการบันเทิงส่วนใหญ่เลือกที่จะเงียบหรือเป็นกลาง แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่ออกมาแสดงจุดยืน และต้องพบกับทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิจารณ์จนบางรายต้องหายไปจากสื่อชั่วคราว

แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ "อัด อวัช" นักแสดงวัย 20 ต้น ๆ คนนี้กล้าที่จะลุกขึ้นมาเปิดหน้าพูดเรื่องการเมืองในที่สาธารณะ และเขาคิดเห็นอย่างไรกับความพยายามเรียกร้องให้คนดังออกมาแสดงจุดยืนในโลกออนไลน์

เด็กรัฐศาสตร์กับการเลือกตั้งครั้งแรก

อวัชเริ่มเป็นที่รู้จักจากการเป็นนักแสดงในซีรีส์ดัง "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" ก่อนที่จะมาโลดแล่นบนเส้นทางสายดนตรีด้วยการเป็นศิลปินวง Mints อีกทั้งเป็นดีเจ รวมถึงบทบาทคนเบื้องหลังที่กำลังเป็นที่จับตา คนอีกจำนวนไม่น้อยจดจำเขาในฐานะศิลปินวัยรุ่นที่แสดงออกทางการเมือง ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 8 หมื่นคน

อวัชจบปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะเรียนด้านรัฐศาสตร์แต่ความใฝ่ฝันที่แท้จริงของเขาคือการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และในที่สุดเขาก็เลือกทำงานในวงการบันเทิงหลังเรียนจบ แต่ตลอด 4 ปีในฐานะนิสิต "สิงห์ดำ" ก็ได้หล่อหลอมวิธีคิดให้เขาเป็นเขาอย่างทุกวันนี้ โดยเฉพาะการมองปัญหาสังคมที่เกิดจากการกดทับมาอย่างยาวนาน

อวัช รัตนปิณฑะ

"เพื่อน ๆ แต่ละคนก็มีวิธีคิดที่เฉพาะตัว ไม่มีทางเหมือนกันเลย เรารู้สึกว่าเราได้มวลจากการเรียนในคณะเยอะมาก"

ปี 2562 อวัชได้ออกเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้เขาและเพื่อน ๆ "อิน" กับการเมืองเป็นอย่างมาก

"ที่ผ่านมาเราถูกเหมือนกดทับว่า การเมืองมันไม่ใช่เรื่องของคุณ แล้วในวันที่มันเกิดการเลือกตั้งแล้วเด็กรุ่นใหม่ทุกคนเขาสนใจ และให้ความสำคัญกับมันเพราะว่านี่คืออนาคต"

"โน้มน้าว" แต่ "ไม่บังคับ"

หลังเลือกตั้ง อวัชติดตามการเมืองมาโดยตลอด จนกระทั่งได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการอุ้มหายและการคุกคามนักกิจกรรมทางการเมือง เขาเริ่มเล็งเห็น "ความผิดปกติ" เกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย และนั่นเป็นเหตุผลให้เขาตัดสินใจออกมาแสดงความคิดเห็น

"มันไม่ควรจะมีใครต้องโดนแบบนี้ เพียงเพราะว่าเขามีความคิดเห็นที่แตกต่าง และในสังคมที่เราบอกว่านี่คือประชาธิปไตย เรากำลังทำสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกัน...อะไรที่มันไม่ดีเราก็ควรจะพูดได้ว่ามันไม่ดี ว่ามันไม่ถูกต้อง แล้วก็หาวิธีแก้ไขปัญหาต่อไป"

เมื่ออีกสถานะคือบุคคลสาธารณะ อวัชจึงเข้าใจความยากลำบากของผู้มีชื่อเสียงในการที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะแต่ละคนต่างมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ทั้งครอบครัว ต้นสังกัดหรือทีมงาน อีกทั้งแต่ละคนก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเคารพ แม้ตัวเขาเองจะไม่ได้มีภาระผูกผันอย่างที่นักแสดงหลายคนประสบอยู่ แต่การแสดงออกแต่ละครั้งเขาก็ยอมรับกับผลที่อาจตามมา

"ในอนาคตเราไม่รู้ว่าแบรนด์ไหนเขาจะมีจุดยืนแบบไหน เขาเลือกที่จะใช้คนที่เป็นกลาง หรือคนที่ไม่ได้ออกมาพูดเรื่องนี้หรือเปล่า อันนี้มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับว่าท้ายที่สุดแล้วปัจจัยการอยู่ในวงการบันเทิงมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราคนเดียว"

เขามองว่าแม้ประชาชนจะมีสิทธิเรียกร้องและตั้งคำถามกับผู้ที่เป็น "บุคคลสาธารณะ" แต่การเรียกร้องและวิจารณ์ใด ๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

"ถ้าเขาเลือกที่จะไม่ออกมาพูด คนที่เขาติดตามอยู่ก็มีสิทธิที่จะเลิกติดตาม หรือไม่เห็นด้วย ผมว่าอันนั้นมันก็เป็นสิทธิของทุกคนนะ...สิ่งสำคัญคือเราต้องมีความเข้าอกเข้าใจให้กับคน เวลาเราจะพูดอะไรกับใครเราต้องคิดเหมือนกันว่า ถ้าเราอยู่ในจุดนั้นแล้วเราอยากดึงเขาเป็นพวกเดียวกับเรา ให้เขาเชื่อในสิ่งเดียวกับเรามันไม่ใช่การไปบังคับ การไปกดดันใคร มันคือการพูดคุยกันด้วยความเข้าใจ ด้วยเหตุและผล แน่นอนว่ามันไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจในครั้งแรก"

ท้ายที่สุดเขาคาดหวังว่า สักวันหนึ่งการที่ผู้ที่มีชื่อเสียงแสดงความเห็นต่อประเด็นสังคมการเมือง สิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชนจะกลายเป็นค่านิยมใหม่สำหรับวงการบันเทิงไทย

"ดีมากเลยถ้าคนที่มีชื่อเสียงออกมาพูดประเด็นเหล่านี้ ที่จริงๆ แล้วสิ่งที่คุณอาจจะโฟกัสมันก็แค่ความถูกต้องมั้ง เรื่องของความเป็นคน...ถ้าคุณคิดแบบนั้นในฐานะประชาชนคนหนึ่งคุณก็ควรออกมาพูด มันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่คนธรรมดาทั่วไปออกมาพูด"

มารีญา พูนเลิศลาภ

ถ้าการเมืองดีสิ่งแวดล้อมก็จะดี

นอกจากการแสดงจุดยืนทางการเมืองแล้ว ใครติดตามบัญชีโซเชียลมีเดียของเขาก็จะคุ้นชินกับภาพที่เขาออกไปเก็บขยะบริเวณชายหาดที่เขานำมาโพสต์และเล่าเรื่องอยู่เสมอ

เมื่อไม่นานมานี้ อวัชได้ริเริ่มทำโครงการอนุรักษ์ทะเลเพื่อสร้างชุมชนคนรุ่นใหม่ที่รักและต้องการอนุรักษ์ทะเลผ่านแพลตฟอร์ม "Save Thailay"

"ทุกครั้งที่ไปเที่ยวเราก็จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง ขยะพลาสติกพวกนี้ที่มันเยอะมาก การที่เราลงไปดำน้ำเราก็เจอเหมือนกัน นี่มันเกี่ยวกับชีวิตเราแหละ มันเลยทำให้เราสนใจว่าเราจะปล่อยให้ธรรมชาติ สิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราสนใจมันแย่ลงไปเรื่อย ๆ เหรอ"

เขาเล่าด้วยความตื่นเต้นเมื่อได้ย้อนไปในช่วงเวลาที่ได้เปลี่ยนความชอบที่มีต่อทะเล และการดำน้ำ มาเป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้างสังคมเสมือนให้เป็นช่องทางส่งต่อข่าวสาร และสร้างความตระหนัก จนเริ่มนำไปสู่การลงมือทำ ตัวเขาเองก็มักใช้เวลาทุกครั้งที่ไปทะเลกับการเก็บขยะบริเวณชายหาด

"เราทำเพราะเรารู้สึกว่าเราอยากทำ เราแค่รู้สึกว่าเหมือนเราไปที่บ้านเรา แล้วทุกครั้งที่เราเห็นของที่มันรกเราก็ไม่อยากเห็นมันรกแบบนั้น เราแค่เก็บขึ้นมาทำเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่ไป"

เมื่อได้คลุกคลีกับบรรดาผู้ที่เล็งเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เขาเรียนรู้ได้อย่างหนึ่งว่า การลงมือทำของคนทั่วไปแม้จะมีพลังเพียงใด ก็ไม่สามารถคาดหวังผลในระยะยาวได้เท่ากับความร่วมมือของรัฐในการวางแผนเชิงนโยบาย

ดาราเก็บขยะ

"ถ้าการเมืองดีทุกอย่างมันก็ดีจริง ๆ อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ตอนที่มีนโยบายออกมาเรื่องการแบนถุงพลาสติก ถามว่ามันได้ผลลัพธ์ที่ดีมั้ย มันได้ผลลัพธ์ที่ดีมากนะ ท้ายที่สุดแล้วในวันนี้อัตราการใช้ถุงพลาสติกลดลงจริง ๆ"

เขาเสนอให้มีการบรรจุวิชาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมลงไปหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน เพราะเห็นว่าเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ

"ในวันที่เราได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก ผมเชื่อว่าพอเราโตขึ้นมันอยู่ในจิตสำนึกของเรา มันจะไม่ใช่แค่เรื่องฉาบฉวยในวันที่เราโตขึ้น เพราะถ้ามองไปในวันที่เราเป็นเด็ก เรารับรู้แค่ว่ามันมีปัญหาแค่นั้น เราไม่เคยเข้าใจว่ามันเกิดจากอะไร แล้วมันมีวิธีแก้ไขยังไง"

แม้จะเป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของบรรดาคนรุ่นใหม่ ด้วยเห็นว่าทุกปัญหาในสังคมมีความเชื่อมโยงกับพื้นฐานทางการเมือง ไม่เว้นแม้แต่สิ่งแวดล้อมก็ตาม ทั้งยังนับถือความกล้าของนักเรียนมัธยมที่ออกมาเรียกร้องสิทธิที่มันไม่สมเหตุสมผล แต่อวัชบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้คำพูดที่หยาบคาย และเสนอให้นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่เหล่านี้ให้ความสำคัญกับ "ศิลปะการพูด"

"ศิลปะในการสื่อสารในการพูดเป็นเรื่องสำคัญมาก บางทีเราอยากพูดข้อความเดียวกัน แต่ว่าคนที่เขามีศิลปะในการพูดโดยที่เขาเรียบเรียง ไม่ใช่อารมณ์ พูดด้วยความเข้าใจและใจเย็น บางทีคนนั้นคือคนที่สื่อสารแล้วได้ครบทุกอย่าง ได้คนมาเป็นพวกเรา ได้ข้อความที่จะสื่อ" เขาทิ้งท้าย

Let's block ads! (Why?)




September 11, 2020 at 04:13PM
https://ift.tt/32hJ53e

"อัด อวัช" นักแสดงกับการแสดงความเห็นทางการเมือง "มันควรเป็นเรื่องปกติ" - บีบีซีไทย

https://ift.tt/2A7KyxY


Bagikan Berita Ini

0 Response to ""อัด อวัช" นักแสดงกับการแสดงความเห็นทางการเมือง "มันควรเป็นเรื่องปกติ" - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.